วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

คติความเชื่อเรื่องการไหว้พระ ๙ วัด

คติความเชื่อเรื่องการไหว้พระ ๙ วัด


         ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับความเชื่อของคนไทยในยุคปัจจุบัน คือ การไหว้พระ ๙ วัด วันหนึ่ง ผู้เขียนได้รับคำถามว่า ในกรุงเทพมหานคร วัด ๙ วัดที่นิยมไปไหว้พระนั้นมีวัดอะไรบ้าง ผู้เขียนตอบว่า เมื่อกล่าวตามหลักการแล้ว ไม่มีหลักฐานอะไรระบุไว้แน่นอนชัดเจน เป็นเพียงกระแสความเชื่อของคนไทยในยุคปัจจุบัน เท่าที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมา เป็นวัด ๗ วัด ส่วนอีก ๒ แห่ง ไม่ใช่วัด แต่เป็นศาลเทพารักษ์ ต่อมา ผู้เขียนได้พบการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับกิจกรรมไหว้พระ ๙ วัด ซึ่งตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมา ดังนั้น เพื่อความรู้ความเข้าใจต่อปรากฏการณ์เกี่ยวกับความเชื่อดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอนำมาเสนอต่อท่านผู้อ่านดังนี้

ศาลหลักเมือง
         คติความเชื่อ  ตัดเคราะห์ ต่อชะตา เสริมวาสนาบารมี
         กิจกรรม  สักการะหลักเมือง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อหอกลอง
         สถานที่ตั้ง  บริเวณหัวมุมสนามหลวง ข้างพระบรมมหาราชวัง ถนนหลักเมือง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
         ประวัติ  ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เสาหลักเมืองนั้นใช้ไม้ชัยพฤกษ์มาเป็นเสา  สูงประมาณ ๑๐๘ นิ้ว มีเม็ดยอดสวมลงบนยอดหลังคา ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุพระชะตาเมือง ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสาหลักเมืองชำรุด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมขึ้นใหม่ แล้วบรรจุพระชะตาเมือง ก่อสร้างศาลาขึ้นใหม่แบบยอดปรางค์ตามอย่างศาลาที่กรุงศรีอยุธยา ภายในบริเวณศาลหลักเมืองมีเทพารักษ์ คือ 
         พระเสื้อเมือง เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง สูงประมาณ ๗๕ เซนติเมตร พระหัตถ์ซ้ายถือคทา  พระหัตถ์ขวาชูขึ้นระดับพระเศียร เครื่องทรงมีชายไหว ชายแครง ประทับยืนบนแท่นสี่เหลี่ยม อยู่ด้านขวาของเจ้าพ่อเจตคุปต์
         พระทรงเมือง เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง ขนาดใกล้เคียงกับพระเสื้อเมือง พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ พระหัตถ์ขวายกขึ้นในระดับพระเศียร ประทับยืนบนแท่นสี่เหลี่ยม อยู่ด้านซ้ายของเจ้าพ่อเจตคุปต์
         เจ้าพ่อเจตคุปต์ เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎ มีลักษณะเดียวกับเจ้าพ่อหอกลอง ทำด้วยไม้จำหลักปิดทอง
 พระกาฬไชยศรี เป็นรูปพระกาฬหล่อด้วยสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง ประทับบนหลังนกแสก มีแท่นรอง จากแท่นถึงพระเศียรสูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร
         เจ้าพ่อหอกลอง เป็นรูปเทวดาสวมมงกุฎหล่อด้วยโลหะปิดทอง สูง ๑๕๐ เซนติเมตร ประทับยืนบนแท่นแปดเหลี่ยม ยกพระกรทั้งสองขึ้นในระดับพระอุระ มีนาครัดจากข้อพระพาหุไปเบื้องหลัง

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
         คติความเชื่อ  แก้วแหวนเงินทองไหลมาตลอด
         กิจกรรม  ไหว้พระแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง
         สถานที่ตั้ง  อยู่ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
         ประวัติ  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๒๕  เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ มีเฉพาะส่วนพุทธาวาส ไม่มีส่วนสังฆาวาส
         การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งใหญ่ทั้งพระอารามมีขึ้นในรัชสมัยต่าง ๆ ดังนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๑๐๐ ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ในรัชกาลปัจจุบัน ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์  ๒๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
         สิ่งสำคัญภายในวัด นอกจากพระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแล้ว ยังมีพระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทพระเทพบิดร หอพระมนเทียรธรรม วิหารยอด หอพระนาก พระอัษฎามหาเจดีย์ ซึ่งเป็นพระปรางค์ ๘ องค์ หอพระราชกรมานุสร หอพระราชพงศานุสร หอพระคันธารราษฎร์  มณฑปยอดปรางค์ หอระฆัง ศาลาราย เจดีย์ทอง ๒ องค์ นครวัดจำลอง บุษบกประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์และรูปช้างโลหะ เจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่อง ๔ องค์ และยักษ์ทวารบาลซึ่งเป็นรูปยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
         วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ

วัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
         คติความเชื่อ  ร่มเย็นเป็นสุข กินดีอยู่ดีตลอด
         กิจกรรม  ไหว้พระพุทธไสยาสน์
         สถานที่ตั้ง  ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
         ประวัติ  วัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการสร้าง เดิมเรียกว่า วัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยธนบุรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ใน พ.ศ. ๒๓๓๑ โดยสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนบูรณะของเดิม เมื่อเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๔๔ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วัดพระเชตุพนฯ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกสรรพตำราต่าง ๆ ลงบนแผ่นหินอ่อนประดิษฐานไว้ตามศาลารายต่าง ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แก้สร้อยนามพระอารามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” นอกจากนี้ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามยังเป็นเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย เพราะเป็นแหล่งรวบรวมวิชาความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และการแพทย์


ศาลเจ้าพ่อเสือ
         คติความเชื่อ  มีอำนาจบารมี เสริมอำนาจบารมี
         กิจกรรม  สักการะศาลเจ้าพ่อเสือ
         สถานที่ตั้ง  ถนนตะนาว แขวงเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
         ประวัติ  ศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นอาคารชั้นเดียวก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน ภายในศาลตั้งตู้ประดิษฐานรูปบูชาปิดทอง ๗ ตู้

         ตู้ที่ ๑ (นับเรียงจากซ้ายมือของเจ้าพ่อเสือ) เป็นรูปเจ้าพ่อกวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์
         ตู้ที่ ๒ เป็นรูปหมู่เจ้าหลายองค์รวมกัน เชื่อกันว่า เป็นหมู่เทพที่คอยช่วยเหลือคน
         ตู้ที่ ๓ เป็นรูปหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง และวัดกัลยาณมิตร ซึ่งชาวจีนเรียกว่า ซำเปากง
         ตู้ที่ ๔ เป็นรูปเจ้าพ่อเสือ เชื่อกันว่า เป็นผู้ที่ถือศีลบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นผู้วิเศษ หรือที่เรียกกันว่า เซียน
         ตู้ที่ ๕ เป็นรูปเทพที่อำนวยคุณทางด้านรักษาโรค
         ตู้ที่ ๖ เป็นรูปเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวเรือ
         ตู้ที่ ๗ เป็นรูปเสือ บริวารของเจ้าพ่อเสือ


วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
         คติความเชื่อ  มีวิสัยทัศน์ที่ดี
         กิจกรรม  ไหว้พระประธานในพระอุโบสถ
         สถานที่ตั้ง  บริเวณเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
         ประวัติ  วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๕๐ เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม จึงเรียกกันว่า วัดพระโต วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ การก่อสร้างวัดมาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๓๙๐ และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามพระประธานในพระอุโบสถว่า “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” พระประธานในพระวิหารว่า “พระศรีศากยมุนี” และพระประธานในศาลาการเปรียญว่า “พระพุทธเสรฏฐมุนี”
        
นอกจากนั้น วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระองค์


วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
         คติความเชื่อ  มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง อุปสรรคพ่ายแพ้
         กิจกรรม  ไหว้พระประธานในพระอุโบสถ และสักการะพระรูปของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
         สถานที่ตั้ง  ถนนจักรพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
         ประวัติ  วัดชนะสงคราม เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เดิมเรียกว่า วัดกลางนา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ  มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุด วัดที่ตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ ตลอดจนเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมาะสม โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดกลางนาเป็นวัดตองปุ และให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เช่นเดียวกับวัดตองปุที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อเทิดเกียรติทหารชาวรามัญในกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่าในสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ สงครามที่ท่าดินแดงและสามสบ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ และสงครามที่นครลำปางป่าซาง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐
         สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง ๓ ครั้ง
         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มดำเนินการก่อสร้างที่บรรจุพระอัฐิเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลที่เฉลียงพระอุโบสถด้านหลังตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชอุทิศพระราชทรัพย์ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ดำเนินการ แต่การก่อสร้างมาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ราชบัณฑิตยสภาดำเนินการก่อสร้าง ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำราชานุภาพเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสิ้น ได้มีพิธีอัญเชิญพระอัฐิจากพระราชวังบวรสถานมงคลไปประดิษฐานใน พ.ศ. ๒๔๗๐


วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
         คติความเชื่อ  มีคนนิยมชมชอบ
         กิจกรรม  ไหว้พระประธานในพระอุโบสถ และสมเด็จพระพุฒาจารย์  (โต พรหมรังสี)
         สถานที่ตั้ง  ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
         ประวัติ  วัดระฆังโฆสิตารามเป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางหว้าใหญ่ ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางหว้าใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วัดบางหว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัด ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ระหว่างการบูรณะได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังถวายวัดบางหว้าใหญ่แทน ๕ ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม” เพราะขุดพบระฆังที่วัดนี้และเพื่อฟื้นฟูแบบแผนครั้งกรุงศรีอยุธยาที่มีวัดชื่อวัดระฆังเช่นกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “วัดระฆังโฆสิตาราม” เป็น “วัดราชคัณฑิยาราม” (คัณฑิ แปลว่า ระฆัง) แต่คนไม่นิยมเรียกชื่อนี้ ยังคงเรียกว่ากันว่าวัดระฆัง
         วัดระฆังโฆสิตารามมีหอพระไตรปิฎกซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัดเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว และบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงามทำเป็นหอพระไตรปิฎก


วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
         คติความเชื่อ  ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกวันคืน
         กิจกรรม  ไหว้พระปรางค์
         สถานที่ตั้ง  ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
         ประวัติ  วัดอรุณราชวรารามเป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดมะกอก ต่อมาเรียกว่า วัดมะกอกนอก เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าน้ำ เสด็จขึ้นไปสักการบูชาพระมหาธาตุ ซึ่งเป็นพระปรางค์องค์เดิม (ส่วนองค์ที่เห็นในปัจจุบันเริ่มปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดมะกอกและเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “วัดแจ้ง” เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ. ๒๓๒๒ ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามใน พ.ศ. ๒๓๒๗
         ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาล ต่อมา สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง ซึ่งต่อมาพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชวรามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”


วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
          คติความเชื่อ  เดินทางปลอดภัย
          กิจกรรม  ไหว้พระพุทธไตรรัตนนายก (ซำปอกง)
          สถานที่ตั้ง  แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
          ประวัติ  วัดกัลยาณมิตรเป็นวัดที่ขุนนางคนสำคัญสร้างขึ้น คือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต ต้นสกุลกัลยาณมิตร) ที่สมุหนายก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์เป็นพระยาราชสุภาวดี ได้อุทิศที่บ้านและซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของท่านซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีพระภิกษุจีนพำนักอยู่ เรียกว่า หมู่บ้านกุฎีจีน แล้วสร้างวัดขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๖๘ จากนั้นได้ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร เพราะพระองค์และเจ้าพระยานิกรบดินทร์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน โดยธิดาคนหนึ่งของเจ้าพระยานิกรบดินทร์คือ เจ้าจอมมารดาอึ่ง เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและมีพระราชธิดา ๑ พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดาหรือพระองค์เจ้าบุตรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สร้างพระวิหารหลวงพระราชทานแก่วัดกัลยาณมิตร  ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าพระยานิกรบดินทร์นี้เอง จึงเป็นที่มาของนามวัดกัลยาณมิตร
          วัดกัลยาณมิตรเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไตรรัตนนายกซึ่งคนจีนเรียกว่า ซำปอกง หรือซำปอฮุดกง และเป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนโดยทั่วไป นามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”เป็นนามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทาน


ผู้เขียน : นายสำรวย  นักการเรียน นักวรรณศิลป์ ๗ ว  กองธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๕๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

         : http://www.lovethailanguage.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น