วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

เสน่ห์ภาษาไทย

เสน่ห์ภาษาไทย

ในช่วงนี้เกิดความรู้สึกครึ้มอกครึ้มใจชอบกลที่มีคนมองเห็นความสำคัญของภาษาไทยและเอกลักษณ์ไทยในลักษณะอื่นๆ

ประการแรก ได้เห็นว่าวงการโทรศัพท์มือถือกำลังแข่งกันโฆษณาว่าสินค้าของตนสามารถสื่อสารเป็นภาษาไทยได้ ด้วยคำพูดหวาน ๆ ชวนให้หลงใหลที่ว่า

"เสน่ห์ภาษาไทย เสน่ห์เดียวที่เหมือนกัน"

"พูดไทยมีเสน่ห์ ส่งไทยได้ยิ่งมีเสน่ห์"

"ส่งข้อความภาษาไทยได้ง่ายไม่ต้องแปล คารมคม ๆ แค่ไหนก็ส่งได้สบาย 
แบบที่ภาษาไหน ๆ ก็ทำได้ไม่โดนใจเท่า"

นอกจากจะปลาบปลื้มที่เขาบอกว่าภาษาไทยมีเสน่ห์แล้วก็ยังปลื้มหนักขึ้นไปอีก ที่เขาเห็นว่าภาษาไทยนั้นไม่เชย ด้วยข้อความโฆษณาที่ว่า

"ไอเดียจี๊ด ๆ เปรี้ยวปี๊ดกับภาษาไทย"

ประการที่สอง ได้เห็นว่ามีการนำเอกลักษณ์ไทยมาเป็นจุดสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร ดังที่ธนาคารแห่งหนึ่งได้แสดงภาพฝรั่งสอนเอกลักษณ์ไทยอันได้แก่ การไหว้ การรำไทย ภาษาไทย อาหารไทย และการยิ้ม แล้วก็ตบท้ายว่า

"เอกลักษณ์ไทย ไม่ต้องให้ใครมาสอน"

เป็นการบอกโดยนัยว่า คนไทยควรจะรู้จักและรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้
เอาละถึงแม้ว่าจะรู้ว่าเขาหลอก ก็เต็มใจให้หลอกล่ะจ้ะ  เขาเอาเรื่องอื่นมาหลอกเพื่อขายของกันมานานแล้ว คราวนี้เขาจะเอาภาษาไทยและเอกลักษณ์ไทยมาหลอกบ้างก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติกันอย่างยิ่ง เพราะแสดงว่า "เอกลักษณ์ไทย" ขายได้แล้วละ  เคลิ้ม ๆ ไปว่าเขาให้ความสำคัญเท่า ๆ กับ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ และวัฒนธรรมนานาชาติเชียวแหละ

เรื่องที่ทำให้ปลาบปลื้มต่อไปอีกก็คือ การที่มีฝรั่งหนุ่มสาวสองคนคือ โจนัส กับ คริสตี้ มาแต่งชุดไทย พูดไทย อ่านไทย ร้องเพลงไทย และให้สัมภาษณ์ว่ารักวัฒนธรรมไทยด้วย โดยเฉพาะโจนัสนั้นถึงกับแต่งเพลงชื่อ "อยากเป็นคนไทย" หนุ่มฝรั่งคนนี้ไปไกลถึงขนาดสอนภาษาไทยให้เด็ก ๆ ฝรั่งด้วยกัน และไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทยยังสหรัฐด้วยเพลงลูกทุ่ง โดยบอกว่าไม่มีปัญหาอะไรเลยเพราะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้สบายมาก  แล้วคนไทยก็ปลาบปลื้มและเอ็นดูหนุ่มสาวคู่นี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตอนที่เขาพูดภาษาไทยแปร่ง ๆ ออกทีวี

ฝรั่งที่น่ารักอีกคนหนึ่งของคนไทยก็คือ แอนดรูว์ บิ๊กส์
แอนดรูว์ แทบจะกลายเป็น "พรีเซ็นเตอร์" ของภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเลยทีเดียว เพราะเขาจบวิชาเอกภาษาไทยจากที่นี่ และพูดถึงสถาบันนี้เป็นอย่างดีทุกครั้ง
ครูปลื้มใจทุกครั้งเลยจ้ะ ที่แอนดรูว์พูดว่า "ผมรักภาษาทาย"
พอเขียนมาถึงตรงนี้ก็ชักจะไม่แน่ใจเสียแล้วว่า ใครกำลังหลอกใคร หรือว่า ไม่มีใครหลอกใครเลย ทุกคนจริงใจกับภาษาไทยจริง ๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่นึกออกก็คือ มีอะไรหลายอย่างที่เราต้องคอยให้ฝรั่งบอกเสียก่อนว่าดี เราจึงจะเห็นคล้อยตามไปด้วยว่าดี คราวนี้ก็มาถึงคราวของภาษาไทยแล้วหรือไฉน ที่ต้องให้ฝรั่งบอกว่าดีเสียก่อนแล้วคนไทยถึงจะเห็นว่าดีด้วย (คนไทยในที่นี้หมายถึงคนไทยทั่วไป ไม่ใช่ครูภาษาไทย หรือผู้มีหน้าที่รักษาและส่งเสริมตามหน้าที่)

ถ้าเห็นว่าผู้เขียนคิดผิด ช่วยบอกด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น