วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์













การแต่งกายประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามหมายกำหนดการ หรือกำหนดนัดหมายของทางราชการในหมายกำหนดการ หรือกำหนดนัดหมายของทางราชการในพระราชพิธี หรือรัฐพิธีต่างๆ  จะมีข้อความระบุการแต่งกายในแต่ละโอกาส เช่น ให้แต่งกายเต็มยศ ครึ่งยศ หรือปกติขาว แล้วแต่กรณี ผู้แต่งกายต้องตรวจสอบหมายกำหนดการ หรือข้อความที่ระบุการแต่งกาย ในกำหนดนัดหมายของทางราชการ ให้ชัดเจน แล้ว แต่งกายและประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ถูกต้อง ทั้งนี้ การที่จะประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ร่วมกับการแต่งกายดังกล่าวตามที่ระบุไว้ได้อย่างถูกต้องนั้น มีหลักการสำคัญที่ควรทราบ ดังนี้



1. กรณีให้แต่งกายเต็มยศ (เสื้อขาว กางเกงหรือกระโปรงดำ)
1.1    ไม่ระบุชื่อสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทานเพียงสายเดียว โดยให้ประดับดารา ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ที่ได้รับพระราชทานแต่ละตระกูล ตามลำดับเกียรติ
1.2 ระบุชื่อสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์  ให้สวมสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามที่ระบุ ซึ่งแม้ว่าจะได้รับพระราชทานสายสะพาย ที่มีลำดับเกียรติสูงกว่าก็ตาม เช่น ระบุให้สวมสายสะพายมงกุฎไทย หากได้รับพระราชทานประถมาภรณ์มงกุฎไทย และประถมาภรณ์ช้างเผือกแล้ว ก็ให้ สวมสายสะพายประถมาภรณ์มงกุฎไทย แต่ให้ประดับดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ของแต่ละตระกูลที่ได้รับพระราชทาน ตามลำดับเกียรติ แต่หากมิได้รับพระราชทานสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ระบุชื่อให้สวมสายสะพาย หรือประดับ เครื่องราช อิสริยาภรณ์  ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน โดยประดับดาราตามลำดับเกียรติ อาทิ หากหมายกำหนดการให้แต่งกายเต็มยศ  สวมสายสร้อยจุลจอมเกล้า หรือ ให้แต่งกายเต็มยศสวมสายสะพายช้างเผือก ผู้ที่ได้รับพระราชทานชั้นสูงสุด ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย โดยยังไม่ได้รับ พระราชทาน ประถมาภรณ์ช้างเผือก หรือ ผู้ได้รับพระราชทานปฐมดิเรกคุณาภรณ์เป็นชั้นสูงสุด ให้สวมสายสะพาย ประถมาภรณ์ มงกุฎไทย หรือ สายสะพายปฐมดิเรกคุณาภรณ์แล้วแต่กรณี

2. กรณีให้แต่งกายครึ่งยศ (เสื้อขาว กางเกงหรือกระโปรงดำ)
แต่งกายเช่นเดียวกับเต็มยศ โดยประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน เว้นแต่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย เมื่อประดับดาราชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน แต่ละตระกูลแล้ว ไม่ต้องสวมสายสะพาย เฉพาะผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์(ฝ่ายใน) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์  (ฝ่าย ใน)  เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า และทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ฝ่ายใน)  ให้นำดวงตรา ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับที่หน้าบ่าเสื้อเบื้องซ้าย โดยไม่ต้องประดับดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว

3. กรณีให้แต่งกายปกติขาว (เสื้อขาว กางเกงหรือกระโปรงขาว)  ***
ให้ประดับแพรแถบย่อของ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามชั้นยศที่ได้ พระราชทาน แต่หากระบุให้แต่งกายปกติขาวประดับเหรียญ ให้ประดับเฉพาะเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่อกเสื้อเบื้องซ้าย โดยไม่ประดับดารา หรือสายสะพาย

           อนึ่ง ในกรณีเป็นงานศพซึ่งมีกำหนดการระบุให้แต่งกายเต็มยศ ครึ่งยศ หรือปกติขาวไว้ทุกข์ ให้สวมปลอกแขนสีดำที่แขนเสื้อข้างซ้าย

4. ในโอกาสพิเศษ (บางพิธี) อาจมีหมายกำหนดการระบุให้แต่งกายปกติขาวประดับเหรียญ เช่น งานเลี้ยงพระและสมโภชราชกกุธภัณฑ์ ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล ก็ให้แต่งกายปกติขาว แต่ประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์และเหรียญที่ระลึก โดยไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์  และไม่ต้องสวมสายสะพายหรือสวมแพรแถบสวมคอแต่อย่างใด            อนึ่ง เมื่อแต่งกายชุดสากลจะไม่มีการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือแพรแถบย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นอันขาด  เว้นแต่จะประดับดุมเสื้อเครื่องราชอิสริยาภรณ์

การส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

-----------------



เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ต้องส่งคืน และกรณีที่ต้องส่งคืน

๑. เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์   และ

๒. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์

มีหลักเกณฑ์การส่งคืน คือ
(๑) เมื่อผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์วายชนม์ ผู้รับมรดกจะต้องส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ภายในกำหนด ๓๐ วัน ถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ทายาทหรือกองมรดกจะต้องรับผิดชอบ
(๒) กรณีทรงเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืน ถ้าผู้รับพระราชทานส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ผู้รับพระราชทานจะต้องชดใช้ราคาแทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
๓. เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
๔. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก  และ
๕. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย

มีหลักเกณฑ์การส่งคืน คือ

(๑) เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์วายชนม์ ผู้รับมรดกจะต้องส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืนภายในกำหนด ๓๐ วัน ถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ กองมรดกจะต้องรับผิดชอบ
(๒) เมื่อผู้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้รับพระราชทานชั้นสูงขึ้นต้องส่งคืน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นรอง หากไม่สามารถส่งคืนได้ด้วยประการใด ๆ กองมรดกจะต้องใช้ราคาแทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ทางราชการกำหนด
(๓) กรณี ทรงเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืน หากไม่สามารถส่งคืนได้ด้วยประการใดๆ จะต้องชดใช้ราคาแทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ทางราชการกำหนด
๖. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์

มีหลักเกณฑ์การส่งคืน คือ

(๑) เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้รับพระราชทานชั้นสูงขึ้น ผู้รับพระราชทานต้องส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นรอง ถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใดๆ จะต้องชดใช้ราคาแทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ทางราชการกำหนด
(๒) เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ ให้ทายาทเก็บรักษาเครื่องราชอิสริยาภรณ์เฉพาะชั้นสูงที่ได้รับพระราชทานไว้เป็นกรรมสิทธิ์
หน่วยงาน / สถานที่รับคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
๑. กลุ่มงานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในทำเนียบรัฐบาล ถนนนครปฐม เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๐๐ (อาคารเดิม)

โทร.๐ ๒๒๘๐ ๙๐๐๐ ต่อ ๔๒๔ โทรสาร ๐ ๒๒๘๐ ๙๐๗๒

๒. หน่วยงานต้นสังกัดของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยเมื่อหน่วยงานได้รับคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากบุคคลในสังกัดแล้วต้องรวบรวมนำส่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตามข้อ ๑
หลักฐานการส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเงินชดใช้ราคาแทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะดำเนินการออกใบรับคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือใบเสร็จรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนี้จะได้บันทึกข้อมูลการส่งคืนดังกล่าวไว้ในประวัติข้อมูลทะเบียนฐานันดรของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อเป็นหลักฐานด้วย

**************

ขอบคุณข้อมูลจาก :  บ้านฉัน...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น